วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ความหมายและความสำคัญของไม้ดัดไม้แคระ

มรดกทางศิลปที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของไทย ที่ปัจจุบันหาดูได้ค่อนข้างยาก และหาผู้สืบทอดได้ยากอีกด้วยก็คือ การเลี้ยงไม้ดัดแบบไทย ซึ่งเป็นงานอดิเรกของคนไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผู้เขียนได้เคยยกมากล่าวไว้ในบทที่ 1 แล้ว ประมาณกันว่า"ขุนแผน" ตัวเอกในเรื่องนี้ มีตัวตนจริงๆ อยู่ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปีพุทธศักราช 2034 ถึง 2072 หรือจุลศักราช 840 ถึง 891 ซึ่งก็หมายความว่าคนไทยเล่นไม้ดัดเป็นงานอดิเรกกันมานานกว่า 500 ปีแล้ว
แต่ว่า ก่อนที่จะคุยกันเรื่องไม้ดัดแบบไทยกันต่อไป ขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ไม้ดัดแบบไทยนั้น มีความแตกต่างไปจากไม้แคระตามศิลป"บุ่งไช่"ของจีน และ"บอนไซ"ของญี่ปุ่น อย่างที่เรียกว่าไปกันคนละเรื่อง ประการสำคัญก็คือ ไม้ดัดไทยไม่ใช่ไม้แคระ เพราะฉนั้นการเล่นไม้ดัดกับการเล่นบอนไซนั้นจะไม่เหมือนกัน ข้อแรก ไม้แคระหรือบอนไซนั้น เท่าที่เคยเห็นมา ความสูงอย่างมากที่สุดก็อยู่ประมาณไม่เกินเมตรครึ่ง หรือประมาณ 150 เซ็นติเมตร แล้วเล็กลงไปจนถึงขั้นบอนไซจิ๋ว ซึ่งสูงไม่ถึง 10 เซ็นติเมตร แต่ไม้ดัดของไทยนั้น ขนาดเล็กที่สุดก็ปาเข้าไปร่วมเมตรแล้ว สำหรับที่สูงจริงๆ นั้น ถ้าจะลองไปดูแถวๆ ในพระบรมมหาราชวัง แถวพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ไม่หนี 3-4 เมตรข้อที่สอง รูปแบบของการดัดกิ่งและการตกแต่งกิ่งก้านแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รูปแบบของบอนไซนั้น เป็นการคงเอาลักษณะและรูปทรงเดิมๆ ของต้นไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาย่อส่วนให้เล็กลงเป็นไม้แคระ แต่รูปแบบของกระบวนไม้ดัดไทยนั้น ไม่คงลักษณะเดิมตามธรรมชาติของต้นไม้ไว้เลย รูปร่างหน้าตาของไม้ดัดไทยแต่ละแบบนับได้ว่ามีความพิลึกพิสดารอย่างยิ่ง ต้องใช้เวลานับเป็นสิบปีกว่าจะ"จบ"ได้ บางทีจนเจ้าของไม้ตายไปแล้วไม้ยังจบไม่ลงก็มี นับเป็นงานอดิเรกที่ต้องใช้ความอุตสาหะ วิริยะ มานะ อดทน ใจเย็น โดยครบถ้วนกระบวนความ ดังนั้นไม้ดัดไทยจึงทรงคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองและมีค่าเสมือนวัตถุโบราณอย่างหนึ่งทีเดียว

1 ความคิดเห็น:

  1. ผม บอนไซบ้าน ขออนุญาตสร้างลิงค์มาที่นี่
    เพราะมีเนื้อหาน่าสนใจมากๆ
    ช่วยกันเผยแพร่ครับ

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ