วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างไม้ดัด


การทำช่อหรือพุ่มใบ

การทำช่อหรือพุ่มใบ
เมื่อมีการจัดหรือบังคับให้แตกกิ่งตรงตามจุดต้องการ สิ่งที่ต้องดูแลต่อไปก็คือช่อหรือพุ่มใบ ไม้ดัดนอกจากรูปทรงต้นกิ่งก้านแล้ว ช่อหรือพุ่มใบเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้ไม้ต้นนั้นดูงดงาม ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น การทำช่อหรือพุ่มใบทำได้โดยการตัดยอดของกิ่งนั้นออก ให้กิ่งนั้นแตกยอดและใบออกมา รอจนยอดนั้นมีใบเพสลาด (กิ่งอ่อนกิ่งแก่) จากนั้นก็ตัดยอดที่แตกออกมาใหม่นี้อีกครั้งในลักษณะเช่นนี้ติดต่อกันไป จนกระทั่งส่วนนั้นแตกยอดและใบมากขึ้นดูสวยงาม ก็ตัดแต่งให้ได้รูปทรงของช่อใบตามต้องการ การทำช่อหรือพุ่มใบ กิ่งหนึ่งจะแยกออกเป็นกี่ช่อที่พุ่มใบก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบตามตำราและรูปทรงของไม้หุ่น แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือ การจัดช่อใบให้ได้ระยะที่พอเหมาะกับสัดส่วนและสัมพันธ์กัน เช่น การที่จะทำให้มี 9 ช่อ ก็จัดวาง 2 ชั้นชั้นละ 4 ช่อ และวางไว้ที่ยอดอีก 1 ช่อ รวมเป็น 9 ช่อพอดี

การบังคับให้แตกกิ่ง

การบังคับให้แตกกิ่ง
บางครั้งจำเป็นต้องบังคับให้แตกกิ่งใหม่ตรงตามจุดที่ต้องการซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกิ่งที่มีตาและตรงที่ไม่มีตาการบังคับให้แตกกิ่งตรงที่มีตาอยู่แล้ว ทำได้โดยการใช้พลาสติกพันลำต้นและกิ่งให้มิด เว้นไว้ตรงตาที่ต้องการให้แตกกิ่ง เมื่อตาที่เว้นไว้แตกกิ่งจะต้องรอให้กิ่งโตพอสมควร จึงเอาพลาสติกที่พันออกการบังคับให้แตกกิ่งตรงที่ไม่มีตา วิธีการทำได้โดยใช้สว่านเจาะทะลุ แล้วนำกิ่งยอดจากต้นอื่น มาตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ และรูดใบออกให้หมด นำกิ่งดังกล่าวสอดให้ทะลุรูเจาะนั้น แล้วผูกยึดกิ่งสอดนั้นให้แน่น รอให้กิ่งที่สอดนั้นโตขึ้นเนื้อเยื่อและท่อน้ำนำอาหารก็จะเชื่อมประสานติดกันแน่น จากนั้นจึงค่อยตัดโคนกิ่งที่สอดให้ชิดกับกิ่งหุ่น ซึ่งเมื่อนาน ๆ ไปก็จะดูเป็นกิ่งจากต้นหุ่นเดียวกัน

การดัดโค้งงอและการดัดฉาก

การดัดโค้งงอ
เป็นการจัดกิ่งพุ่มใบให้ระยะห่างได้จังหวะช่องไฟที่เหมาะสม การดัดลักษณะนี้จะใช้ลวดพันลำต้นและกิ่งที่ต้องการ การพันลวดควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ 1. ขนาดของลวด เลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับลำต้นหรือกิ่งที่จะพันเพราะถ้าใช้ลวดเล็กเกินไป จะบังคับให้กิ่งโค้งตามต้องการไม่ได้ หรือถ้าลวดมีขนาดใหญ่ก็จะแข็งทำให้พันลำบาก 2. การพัน พันวนไปตามต้นกิ่งในลักษณะ 45 องศา ทั้งระยะห่างพอประมาณอย่าให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป 3. การดูแลหลังพันลวด หลังจากพันลวดเสร็จแล้วสามารถดัดได้ตามต้องการ การดัดควรทำอย่างเบามือ อย่าพยายามดัดหรือหักลำต้นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กิ่งและลำต้นเสียหายได้ เมื่อดัดเรียบร้อยแล้ว ต้องปล่อยให้ต้นไม้อยู่ตัวสักระยะหนึ่ง ประมาณ 3-4 เดือน จึงเอาลวดออกเพื่อป้องกันการสปริงตัวกลับของกิ่ง ถ้าเห็นว่ากิ่งมีรอยถูกลวดมัด ให้รีบแก้ออกแล้วพันใหม่ทันที การดัดกิ่งให้โค้งงออีกรูปแบบหนึ่ง คือการใช้น้ำหนักถ่วงให้กิ่งโค้ง ห้อยงอลงเพราะแรงดึงหรือแรงถ่วง โดยใช้ก้อนหินหรือของหนัก ๆ ผูกเชือกห้อยไว้กับกิ่งที่ต้องการดัด จนเห็นว่ากิ่งอยู่ตัวดีจึงนำออก
การดัดฉาก
กรณีที่ต้องการกิ่งหักมุม หรือหักข้อศอก ให้ใช้มีดปาดส่วนของกิ่งด้านที่ต้องการหักมุมออก แล้วหักพับตามต้องการโดยใช้ลวดบังคับหรือใช้เชือกผูกยึดจากนั้นใช้พลาสติกพันทับรอยปาดที่หักพับของกิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้ จะทำให้รอยแผลสร้างเปลือกออกหุ้มโดยเร็วขึ้น

เทคนิคการดัดแต่งกิ่ง

เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง
การเตรียมต้นตอ เพื่อการปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดัดไม่ว่าต้นตอที่ได้มานั้นจะมีรูปแบบเป็นไม้บรรจบป่าหรือไม้บรรจบหุ่น รูปทรงมักจะไม่งามตามความต้องการ คงต้องเลี้ยงและบังคับ ให้มีกิ่งก้านพุ่มใบตามรูปร่างรูปทรงที่ตัดเอาไว้ การดัดกิ่งก้านหรือบังคับให้แตกกิ่งก้านตรงจุดที่ต้องการ เป็นเรื่องที่ต้องทำเสมอ เทคนิคเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษา ติดตามสังเกตจากผู้มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม แบบเรียนคงบอกผู้ปลูกเลี้ยงไม่ได้ว่าจะต้องดัดตรงไหนให้แตกกิ่งใหม่กี่กิ่ง คงเสนอแนะเทคนิคการดัดและเสริมกิ่ง เท่าที่ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมทำกันเท่านั้น

การดัดแต่งไม้ดัด

การตัดแต่งกิ่งช่อใบ
การปิดกระหม่อมทำหุ่นไม้ดัด
ลักษณะของไม้หุ่นที่มีรูปทรงเป็นลักษณะไม้หุ่นเดียว (ไม้วิชา) เมื่อนำมาปลูกและฟื้นตัวได้ดี มีกิ่งกระโดงแตกใหม่แล้วจะต้องทำการปิดกระหม่อม ลักษณะไม้ท่อนเดียวเมื่อเจริญเติบโตดีแล้วให้เลื่อยต้นตอ สูงจากพื้นดินพอเหมาะตามต้องการ ต่อมาจะเกิดกิ่งกระโดงแตกออกมาใต้บริเวณรอยตัด ถ้ากิ่งกระโดงแตกต่ำจากรอยตัดมากเกินไป ก็ให้ตัดหัวตอลดต่ำลง เมื่อกระโดงยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ก็ให้เริ่มทำการปิดกระหม่อมทำหุ่น โดยการค่อย ๆ กับหลักให้แน่น ปล่อยให้กิ่งกระโดงยาวออกไปเรื่อย ๆ แต่ต้องคอยริดยอดหรือให้กิ่งกระโดงโตเร็วขึ้น รอจนกว่ากิ่งกระโดงจะโตเชื่อมปิดกระหม่อมได้เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้ตัดกิ่งกระโดงออกเหลือไว้เท่าที่ต้องการเท่านั้น เพื่อใช้กิ่งกระโดงนี้เป็นหุ่นเลี้ยงกิ่งแยกต่อไป แต่ละหุ่นจะปล่อยให้แตกกิ่งแยกเท่าไรนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะทำไม้ตัดชนิดใดจากรูปแบบทั้ง 9 ชนิด ที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 2

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างไม้ดัดไม้แคระ


ประโยชน์ของไม้ดัดไม้แคระ

ไม้ดัดไม้แคระมีประโยชน์ ดังนี้
1. สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม การปลูกไม้ดัดไม้แคระสามารถทำ
เป็นอาชีพของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตปีละจำนวนมาก ๆ
2. ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความร่มรื่นสวยงาม การปลูกไม้ดัดไม้แคระช่วยสร้าง
ความร่มรื่นสวยงามให้แก่สถานที่ต่าง ๆ ให้น่าอยู่น่าอาศัย สร้างความเพลิดเพลิน
3. เป็นแหล่งวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ
4. ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อมีการรวมตัวกันผลิตไม้ดัดไม้แคระ
จำนวนมาก ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและส่วนรวมอีกทางหนึ่งด้วย
5. ไม้ดัดไม้แคระสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างรายได้เป็น
มูลค่านับพันล้านบาทต่อปี เช่น การส่งออกไม้ดัดไม้แคระไปขายยังต่างประเทศ เป็นต้น
6. ใช้เป็นแหล่งทดลองทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ทำให้เกิดความเจริญด้าน
เทคโนโลยีการเกษตรมากยิ่งขึ้น
7. การใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ชนิดพันธุ์ของไม้ดัดไม้แคระ

ไม้ดัดไทยแบ่งเป็น ๙ ชนิดคือ ๑. ไม้ขบวน เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นต่ำ ทรงตรงหรือคดเล็กน้อยก็ได้ แล้วตัดกิ่งให้วกเวียนขึ้นไป วนสุดยอด จะดัดให้พลิกแพลงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำให้ได้ช่องไฟดูพอเหมาะ และแต่งช่อพุ่มใบให้เรียบร้อย นิยมทำ ๙ ช่อ หรือจะมากจะน้อยกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่มองแล้วทำให้เกิดความสวยงาม โดยถือรูปทรงที่สวยงามเป็นสำคัญ ไม้ขบวนเป็นชนิดไม้ดัดที่นิยมกันมาก เพราะตกแต่งได้ง่ายกว่าไม้ดัดชนิดอื่น ๒. ไม้ฉาก เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นตรง แล้วดัดให้หักเป็นรูปมุมฉาก สำหรับกิ่งก็ดัดแต่งให้เป็นรูปมุมฉากเช่นกัน ส่วนปลายกิ่ง ก็ปล่อยให้เป็นพุ่มใบ นิยมทำ ๙ ช่อ ไม้ดัดชนิดนี้จะทำเป็นต้นคู่ หรือต้นเดี่ยวในลักษณะรูปทรงแบน หรือลักษณะฉากบังตาก็ได้ ไม้ชนิดนี้ จะดัดให้หุ่นงาม ให้ตัดและทำการปิดขม่อมให้ชิดดินหรือสูงเพียงเล็กน้อย เมื่อกิ่งกระโดง (หมายถึงกิ่งที่แตกออกจากลำต้น) แตกขึ้นจึงเริ่มดัด ไม้ดัดชนิดนี้ นับเป็นไม้ดัดที่งามและดัดยากมากที่สุด ๓. ไม้หกเหียน เป็นไม้ดัดที่มีการตัดแต่งกิ่งให้ย้อนกลับลงมาทางด้านล่างก่อน แล้วค่อยดัด ทำให้กิ่งโค้งงอไปรอบๆ ต้น หรือจะชี้ขึ้นตรงๆ ก็ได้ การดัดทำกิ่งและช่อพุ่มใบ ตามตำราแม่แบบไม้ดัดไทยกำหนดให้ทำกิ่งและช่อ ๑๑ ช่อ จึงจะดูสวยงาม เป็นไม้ดัดที่ดัดยาก ต้องใช้ฝีมือและความวิริยะอุตสาหะ จึงจะทำได้สำเร็จ ๔. ไม้เขน เป็นไม้ดัดที่เน้นความสำคัญของทรงต้น โดยดัดทำโคนต้นให้เป็นปุ่ม เป็นตา ดัดกิ่งท้ายลง คือกิ่งที่ต่ำสุด ดัดลงให้อยู่ตรงข้ามกับกิ่งที่ ๒ และกิ่งยอด โดยกิ่งยอดจะต้องหักเอี้ยวลงมาข้างหลังก่อน แล้วจึงกลับ ๕. ไม้ป่าข้อม เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นตรงขึ้นไปถึงยอด ที่โคนมีปุ่มรอยตัด ดัดแต่งกิ่งรอบๆ ต้นให้วกเวียนขึ้นไป การทำกิ่ง และช่อพุ่มใบรอบๆ ต้น ตามตำราแม่แบบไม้ดัดไทย กำหนดให้ทำ ๓ กิ่ง กิ่งละ ๓ ช่อ รวม ๙ ช่อ ต้องมีช่องไฟงดงามสม่ำเสมอกัน จะทำให้สวยงาม ๖. ไม้ญี่ปุ่น เป็นไม้ดัดที่มีรูปลักษณะคล้ายกับไม้แคระของญี่ปุ่น (Bonzai) เป็นไม้มีหุ่นย่อจากธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งพยายามปลูกให้ต้นไม้แคระแกร็นลง คือโคนต้นใหญ่ ปลายต้นเรียวซึ่งทรงต้นจะตรงหรือเอน สำหรับกิ่งที่ประกอบทรงต้นก็ดัดแต่งให้กระจายพองาม ไม่มีการตัดแต่งช่อพุ่มใบ ปล่อยให้เป็นไม้แคระตามธรรมชาติ ไม้ดัดชนิดนี้จะปลูกดัดเฉพาะต้นเดี่ยวหรือปลูกดัด ๒ ต้นคู่กันโดยให้ต้นใหญ่ อีกต้นหนึ่งเล็กลดหลั่นกันลงมาก็ได้ ๗. ไม้กำมะลอ คือไม้ดัดที่มีทรงต้นตรงขึ้นไป จะมีกิ่งที่โคนหรือไม่มีก็ได้ กิ่งของไม้ชนิดนี้จะให้ยักเยื้องพิสดารได้เท่าไรก็ยิ่งดี จะมีกิ่งหรือช่อมากน้อยไม่กำหนด ขอให้ดูสวยงามเข้ารูปทรง แต่ส่วนหุ่นจะต้องดัดให้หันหมุนเวียนให้ยอดวกวนชี้ลงล่าง ไม่ว่าจะชี้ลงล่างในรูปลักษณะใดก็ได้ไม้ดัดแบบนี้มีลักษณะตรงข้ามกับไม้ธรรมดาที่มียอดชี้ฟ้าเป็นไม้ที่ไม่เหมือนของจริงจึงเรียกได้ ว่าเป็นไม้กำมะลอ ๘. ไม้ตลก เป็นไม้ดัดที่เหมือนทำให้ตลกให้ดู มี ๒ ลักษณะคือไม้ตลกหัวและไม้ตลกราก ไม้ตลกหัวหรือไม้ตลกหัวโตมีส่วนยอดสุดของลำต้นเป็นก้อนกลุ่ม ยิ่งโตเท่าไรยิ่งดี หรือมีลักษณะลำต้นเป็นกระปุ่มกระป่ำและมีกิ่งช่อน้อย ส่วนไม้ตลกรากต้องมีรากโผล่หรือรากลอยโผล่พ้นดินให้เห็นได้ว่าส่วนใด เป็นรากและส่วนใดเป็นลำต้นเรียกว่าไม้ตลกรากหรือไม้แผลงโคน ไม้ดัดชนิดที่ควรทำตลกหัวและตลก รากในต้นเดียวกันและทำที่ช่อกิ่งเพียงเล็กน้อยจะทำให้สวยงาม ๙. ไม้เอนชาย หรือ เอนชายมอ เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้น ลำต้นตรงขึ้นมาแล้วจึงเอนไปด้านข้างคล้ายต้นไม้ริมฝั่งน้ำหรือตามภูเขา ไม่ตั้งตรงเหมือนไม้ธรรมดา มีรากเกาะยึดด้านข้างนำมาดัดแต่งและทำกิ่งช่อ ไม้ดัดชนิดนี้เป็นไม้ที่ปลูกเอนชายประดับกับเขามอ (ภูเขาจำลอง) ปลูกเพื่อร่มเงาหรือล้อรูปเขา มักปลูกด้านหลังของเขามอ ต่อมา ความนิยมก่อเขามอได้เสื่อมไป จึงนำเอาเฉพาะรูปแบบของไม้ที่ปลูกประดับกับเขามอมาดัดทำไม้ดัดคุณลักษณะของพันธุ์ไม้ดัด ในอดีตการเลือกใช้พันธุ์ไม้มาทำเป็นไม้ดัด ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของไม้เป็นสำคัญดังต่อไปนี้ ๑. เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถทำรูปทรงต้น หรือดัดแปลง ตกแต่งได้ง่าย และถูกต้องตามตำราแม่แบบ ๒. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีกิ่งเหนียว สามารถดัดให้โค้งงอได้ตามต้องการ ๓. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีรูปร่างของใบขนาดเล็ก ดูเหมาะสมกับหุ่นหรือทรงต้น ๔. เป็นพันธุ์ไม้ที่เมื่อนำมาดัดแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงง่าย ๕. เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่เจริญเติบโตเร็วจนเกินไป จนทำให้เสยรูปทรงง่าย ๖. เป็นพันธุ์ไม้ที่หาง่ายในแต่ละท้องถิ่น ๗. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุยืนนานและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ๘. เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถมีชีวิตคงทนต่อการปลูกเลี้ยงในที่จำกัด (กระถาง) ได้เป็นเวลานานๆ แต่ปัจจุบันไม่สามารถที่จะเลือกหาพันธุ์ไม้ดัดที่มีคุณลักษณะครบทั้ง ๘ ประการได้ แต่ก็พบว่าพันธุ์ไม้ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้ดัดได้ดีก็คือ ตะโก ข่อย มะสัง มะขาม ชา และโมก เป็นต้น ไม้ที่นิยมนำทำไม้ดัดมากที่สุดคือ ตะโก เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว มีอายุยืนยาว เปลือกเป็นสีดำ และมีรอยแตกดูสวยงาม มีความทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการบำรุงรักษาและตายยาก พันธุ์ไม้ที่นิยมทำเป็นไม้ดัดรองจากตะโกคือ ไม้ข่อย เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่มีกิ่งอ่อน ดัดให้เข้ารูปทรงได้ง่าย มีความสวยงามและมีอายุยืนนานไม่แพ้ตะโก อีกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีความเหมาะสมทำไม้ดัด คือมะขาม เพราะมีลำต้นสวยงาม ใบมีขนาดเล็ก เจริญเติบโตเร็ว แต่มีข้อเสียคือเมื่อดัดแล้ว มักคืนหรือเปลี่ยนรูปทรงได้ง่าย ลักษณะของไม้ดัดไทยที่สมบูรณ์และสวยงามพร้อม ไม่มีหลักยึดตายตัว เพียงแต่ทำให้ได้ไม้ดัดที่มีรูปลักษณะที่ดีที่สุดเท่านั้น และต้องกลบบาดแผลหรือปิดบาดแผล รอยรัดตัดแต่งให้สนิทถ้ากลบบาดแผลหรือรัดรอยแผลไม่สนิทแล้ว แม้จะดัดดีสักปานใดก็ไม่ถือว่าเป็นไม้ดัดที่สมบูรณ์และงามพร้อม ความงามของไม้ดัดที่ควรยึดถือคือ ไม้ดัดดีไม่จำเป็นต้องมีกิ่งมาก ไม้ดัดดีมีกิ่งน้อยก็เปรียบเทียบได้กับการจัดดอกไม้ใส่แจกัน จะดูได้ทั้งดอกและใบซึ่งมีท่าทีที่เสียบลงไปทั้งลักษณะสูงต่ำและดูสวยงาม การแต่งกิ่งหรือการดัดกิ่งไม้ควรหักขึ้น หักลงและพลิกแพลงหรือเฉไฉอย่างมีศิลปะตามแบบฉบับการดัดไม้ไทย การแต่งช่อหรือพุ่มใบไม่ควรดัดจนกลมเป็นลูกแก้ว ควรตัดแต่งอย่างลูกจันทน์แป้นหรือจอกคว่ำจึงจะถือว่างามพร้อม การเล่นไม้ดัด ผู้ดัดต้องอาศัยความพยายาม ความอดทนในการรอคอยและอาศัยความประณีตในการดัดแต่ละกิ่งก้านให้มีลีลางดงามตามใจปรารถนา นอกจากนี้ต้องเป็นผู้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดีด้วย ผู้มีวิริยะพร้อม เพลินเพียร เย็นกระมลเนาเนียร เนิ่นแก้ เล่นดัดตัดแต่งเจียน จัดพุ่ม เรือนเฮย โดยประณีตนับแท้ ท่านนั้นจิตเสมอ

ลักษณะของไม้ดัดไม้แคระ

ลักษณะ ไม้ดัดเป็นศิลปะประจำชาติไทย เป็นศิลปะการเล่นพันธุ์ไม้ของคนไทยโบราณตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นไม้ดัดแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะพากเพียรพยายามทรงไว้ซึ่งฝีมือและแนวความคิดในงานศิลปะของคนไทย เพราะไม้ดัดจะมีรูปร่างลักษณะถูกต้องตามแบบฉบับการดัดจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า ๕ หรือ ๑๐ ปี ไม้ดัดไทยที่มีลักษณะงดงามจึงมีอายุถึง ๒๐, ๕๐ ปี บางต้นมีอายุถึง ๑๐๐ ปีก็มี จึงทำให้ไม้ดัดมีค่าสูงเหมือนโบราณวัตถุที่มีค่าสูงชิ้นหนึ่ง ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยและโปรดปรานเล่นไม้ดัด ดังปรากฏในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังดุสิต นอกจากนี้ยังมีเจ้านายอีกหลายพระองค์ ทรงเล่นไม้ดัด เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศ เป็นต้น ส่วนบรรดาพระสงฆ์ไทย ก็มีพระครูประสิทธิ์สมณการวัดจักรวรรดิ์ พระมหาผิว (ศุขะพิศิษฐ์) วัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบรรดาท่านเหล่านั้นจะสิ้นชีพแล้วก็ตาม แต่แบบฉบับและผลงานของท่านยังคงอยู่ จนกระทั่งปัจจุบัน และยังเป็นการแสดงความเคารพกตัญญูบรรดาท่านเหล่านั้นที่ทำใหศิลปะไม้ดัดยังตกทอดถึงปัจจุบันนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้เขียนโคลงตำราไม้ดัดไว้และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) นับว่าเป็นตำราไม้ดัดเล่มแรกและกลายเป็นแม่แบบตำราไม้ดัดมาจนถึงปัจจุบัน

วิธีการคัดเลือกและเตรียมพันธุ์ไม้ดัดไม้แคระ

การคัดเลือกและเตรียมพันธุ์ไม้ดัด
ลักษณะรูปทรงของไม้หุ่น
ต้นไม้ที่นำมาทำเป็นไม้ดัดเราจะเรียกว่า "ไม้หุ่น" ลักษณะการได้มาของไม้หุ่นจะมาจาก 2 แหล่ง คือ 1. ได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะออกไปหาขุดเองหรือหาซื้อจากผู้ที่ขุดมาขาย 2. ปลูกเลี้ยงขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะหาไม้มาได้ในลักษณะใดก็ตาม การดัดตกแต่งจะยุ่งยากหรือจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับรูปทรงของไม้หุ่นเป็นสำคัญโดยทั่ว ๆ ไปนักเลงไม้ดัดจำแนกรูปทรงไม้หุ่นไว้ 3 แบบ ด้วยกัน คือ 1. ไม้บรรจบป่า 2. ไม้บรรจบหุ่น 3. ไม้วิชา ไม้บรรจบป่า จะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ รูปทรงกิ่งก้านคดเคี้ยวไปมา เนื่องจากถูกสัตว์เหยียบย่ำหรือเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใต้พุ่มไม้ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ทรงพุ่ม แลดูแคระแกร็นลักษณะทรงต้นดีเข้าที่เกือบใช้ได้แล้วอาจขาดเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้นไม้ลักษณะนี้จึงเหมาะสมต่อการนำมาดัดให้ได้รูปทรง เพียงเพิ่มกิ่ง เพิ่มช่อใบ เว้นช่องไฟของช่อใบให้รับหุ่นหรือทรงต้น ก็จะทำให้เป็นไม้ดัดที่ดูงานได้ โดยใช้เวลาอีกไม่มากนัก การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ก็เสร็จสมบูรณ์ ไม้บรรจบหุ่น เป็นไม้ที่มีลักษณะรูปทรงหุ่นใกล้เคียงกับรูปแบบไม้ดัดที่จะทำ เพียงนำมาทำการดัดแต่งอีกเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เริ่มทำกิ่งช่อต่อไปได้ไม้บรรจบหุ่นนี้เหมาะสำหรับนำมาดัดแต่งทำเป็นไม้ดัด ลักษณะไม้ตลก ไม้ขบวน ไม้เอนชายและไม้ญี่ปุ่นเท่านั้น การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด จะต้องใช้เวลานานอาจจะถึง 9 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ไม้วิชา เป็นไม้ที่มีลักษณะทรงต้นเพียงท่อนเดียว จะนำมาทำเป็นรูปร่างอย่างไรไม่ได้เลย เป็นไม้หุ่นที่นำมาทำไม้ดัดยากที่สุด จะต้องนำมาเลี้ยงให้ต้นแตกกิ่งกระโดงใหม่แล้วจึงจะทำการปิดกระหม่อมหุ่น (การปิดกระหม่อม หมายถึง การที่ดัดกิ่งที่แตกใหม่มาทับรอยตัดของต้นต่อเดิม) เมื่อกิ่งกระโดงได้ขนาดและเชื่อมกับต้นตอได้ดีแล้ว ก็จะใช้กิ่งกระโดงนั้นเป็นหุ่นทำกิ่งช่อต่อไป ผู้ดัดจะต้องใช้ฝีมือ และมีความวิริยะอุตสาหะเป็นเลิศ จึงจะทำได้สำเร็จ การใช้ไม้ชนิดนี้มาทำไม้หุ่นต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ไม้ดัดที่เสร็จสมบูรณ์อาจจะถึง 15-18 ปีก็ได้ ปีก็ได้ ไม้วิชานี้ถือว่าเป็นไม้ที่ใช้ทดสอบฝีมือผู้ดัดได้เป็นอย่างดี
การเตรียมพันธุ์ไม้ดัด
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่จะเลี้ยงไม้ดัดจะต้องไปเสาะหาไม้หุ่นจากป่าธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากมาย การขุดก็ต้องค่อย ๆ ขุดล้อมโคนต้นให้มีดินติดมา ตัดกิ่งและรากที่ยาวเกินไปออก ใช้กระสอบหรือวัตถุอื่นปิดคลุมส่วนดินและรากเอาไว้ ในขณะที่เคลื่อนย้าย จะต้องระมัดระวังอย่าให้กระเทือนมาก นำมาปลูกและใช้หลักปักยึดไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นเอียงหรือล้มจะต้องปลูกทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง รอจนต้นไม้ฟื้นตัว และแตกกิ่งก้านใหม่จึงจะค่อยเริ่มลงมือดัดตกแต่งตามต้องการ ในปัจจุบันมีผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดัดกันมากขึ้น จึงเกิดมีอาชีพขุดต้นตอขาย ผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งธรรมชาติที่มีต้นตอขึ้นอยู่แล้วมากมาย จะเลือกขุดและนำมาพักเลี้ยงให้ฟื้นตัวดี เมื่อเริ่มแตกกิ่งก้านใหม่ จึงนำออกมาขายให้กับผู้ที่ต้องการปลูกเลี้ยงต่อไป ในอนาคต คงจะต้องใช้วิธีปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ขึ้นมาเอง เพราะพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินับวันก็จะหายากและขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความหมายและความสำคัญของไม้ดัดไม้แคระ

มรดกทางศิลปที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของไทย ที่ปัจจุบันหาดูได้ค่อนข้างยาก และหาผู้สืบทอดได้ยากอีกด้วยก็คือ การเลี้ยงไม้ดัดแบบไทย ซึ่งเป็นงานอดิเรกของคนไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผู้เขียนได้เคยยกมากล่าวไว้ในบทที่ 1 แล้ว ประมาณกันว่า"ขุนแผน" ตัวเอกในเรื่องนี้ มีตัวตนจริงๆ อยู่ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปีพุทธศักราช 2034 ถึง 2072 หรือจุลศักราช 840 ถึง 891 ซึ่งก็หมายความว่าคนไทยเล่นไม้ดัดเป็นงานอดิเรกกันมานานกว่า 500 ปีแล้ว
แต่ว่า ก่อนที่จะคุยกันเรื่องไม้ดัดแบบไทยกันต่อไป ขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ไม้ดัดแบบไทยนั้น มีความแตกต่างไปจากไม้แคระตามศิลป"บุ่งไช่"ของจีน และ"บอนไซ"ของญี่ปุ่น อย่างที่เรียกว่าไปกันคนละเรื่อง ประการสำคัญก็คือ ไม้ดัดไทยไม่ใช่ไม้แคระ เพราะฉนั้นการเล่นไม้ดัดกับการเล่นบอนไซนั้นจะไม่เหมือนกัน ข้อแรก ไม้แคระหรือบอนไซนั้น เท่าที่เคยเห็นมา ความสูงอย่างมากที่สุดก็อยู่ประมาณไม่เกินเมตรครึ่ง หรือประมาณ 150 เซ็นติเมตร แล้วเล็กลงไปจนถึงขั้นบอนไซจิ๋ว ซึ่งสูงไม่ถึง 10 เซ็นติเมตร แต่ไม้ดัดของไทยนั้น ขนาดเล็กที่สุดก็ปาเข้าไปร่วมเมตรแล้ว สำหรับที่สูงจริงๆ นั้น ถ้าจะลองไปดูแถวๆ ในพระบรมมหาราชวัง แถวพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ไม่หนี 3-4 เมตรข้อที่สอง รูปแบบของการดัดกิ่งและการตกแต่งกิ่งก้านแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รูปแบบของบอนไซนั้น เป็นการคงเอาลักษณะและรูปทรงเดิมๆ ของต้นไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาย่อส่วนให้เล็กลงเป็นไม้แคระ แต่รูปแบบของกระบวนไม้ดัดไทยนั้น ไม่คงลักษณะเดิมตามธรรมชาติของต้นไม้ไว้เลย รูปร่างหน้าตาของไม้ดัดไทยแต่ละแบบนับได้ว่ามีความพิลึกพิสดารอย่างยิ่ง ต้องใช้เวลานับเป็นสิบปีกว่าจะ"จบ"ได้ บางทีจนเจ้าของไม้ตายไปแล้วไม้ยังจบไม่ลงก็มี นับเป็นงานอดิเรกที่ต้องใช้ความอุตสาหะ วิริยะ มานะ อดทน ใจเย็น โดยครบถ้วนกระบวนความ ดังนั้นไม้ดัดไทยจึงทรงคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองและมีค่าเสมือนวัตถุโบราณอย่างหนึ่งทีเดียว

แหล่งที่พบ

แหล่งที่พบ ตัวอย่างไม้ดัดไทยที่สมบูรณ์ และสวยงามเข้าหลักเกณฑ์ตามตำราไม้ดัดไทย หาชมได้ที่ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดจักรวรรดิ์หรือวัดสามปลื้ม สวนหน้ากระทรวงกลาโหม สวนที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ความสัมพันธ์กับชุมชน ไม้ดัดเป็นศิลปะประจำชนชาติไทยมาแต่โบราณกาล ซึ่งเริ่มมีการเล่นกันมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ มาจนถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในสมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นไม้ดัดเป็นที่นิยมกันมากทั้งพระสงฆ์ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพระเจ้าแผ่นดินซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้ปลูกไม้ดัดไว้ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเห็นอยู่รอบสนามหญ้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ต่อมาก็มีหลักฐานปรากฏในภาพเขียนวรรณคดีไทย เช่น กลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างดังนี้ "กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว สมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยตั้งไว้จังหวะกัน"
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันการเล่นไม้ดัดมิใช่เพื่อศิลปะจรรโลงใจ แต่เน้นทางด้านธุรกิจ เนื่องจากไม้ดัดกลายเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมและมีราคาสูง จึงมีผู้เล่นไม้ดัด ทำการดัดไม้พอสวย ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ก็นำออกขาย ราคาของไม้ดัดที่สวยงามและสมบูรณ์ ก็มีราคาถึงหลายหมื่นบาท ซึ่งบรรดาเศรษฐีและชาวต่างชาติซื้อไปปลูกประดับไว้ในบ้านหรือในสวนของตน